วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปมหลังและที่มาที่ไปของคดียุบพรรคการเมือง

เมื่อสังคมถูกแบ่งค่ายแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน การแยกเขี้ยวขู่คำรามเข้าใส่กันจนถึงขั้นจะนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่เหตุการณ์นองเลือด ทำให้กองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ต้องออกมาขยับเส้นสาย ขนกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 พร้อมฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทิ้ง ในโอกาสนั้นได้สั่งยุบ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 ก.ย. 2549 ไปในคราวเดียวกัน

จากนั้นมีการแต่งตั้ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ประกอบด้วย นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะตุลาการฯ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธานคณะตุลาการฯ หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ นายสมชาย พงษธา นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ นายนุรักษ์ มาประณีต นายจรัญ หัตถกรรม และ นายวิชัย ชื่นชมพูนุท เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ พร้อมออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2549 ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่มีคำสั่งให้พิจารณาคดียุบพรรคการเมือง

ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 โดยเฉพาะข้อ 3 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค

นับว่าเป็นการเพิ่มโทษที่มีการจับกลุ่มซุบซิบกันว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่แปรสภาพมาจาก คปค. มองไกลไปถึงการล้างเผ่าพันธุ์ “นักเลือกตั้ง” ไม่หวังให้โงหัวขึ้นมาลงสนามการเมืองได้อีก เพราะเดิมในมาตรา 69 ของพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ระบุว่า ภายใน 5 ปีกรรมการบริหารที่ถูกยุบพรรคจะไปขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ซึ่งเดิมยังมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ธรรมดาได้ ทำให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ จึงหนีตายกันอย่างสุดตัวในคดียุบพรรค

ก๊วนแกงโฮะอย่าง พรรคไทยรักไทย ที่มีคณะกรรมการบริหารพรรคเหลืออยู่ 118 ชีวิต ต้องดิ้นสู้เพื่อหนีข้อกล่าวหาคิดเล่นทางลัดจ้างผู้สมัครจาก พรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้มีตัวประกบหวังหนีเกณฑ์คะแนน 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงรายเดียว โดยตั้งทีมกฎหมายที่ระดมมือกฎหมายระดับเซียนเพื่อหาช่องสู้คดีนี้ ประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษาเก่า และอดีตรมว.ยุติธรรม มาเป็นประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ส่วนทีมงานมี นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายประสพ บุษราคัม นายสุรชัย เบ้าจรรยา นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ และนายพีระพันธุ์ พาลุสุข โดยมี นายสมศักดิ์ โตรักษา เป็นทนายความ

พรรคไทยรักไทย ได้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยชี้ให้เห็นถึงขบวนการล้มล้างการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 3 พรรค คว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซึ่งมีการอ้างเหตุผลว่าพรรคไทยรักไทยเอาเปรียบทางการเมือง พร้อมกับในช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีการชูธงนำเสนอประเด็นของ ม.7 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จะขอนายกฯพระราชทานเพื่อแก้ไขวิกฤติบ้านเมือง ซึ่งพรรคไทยรักไทยกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

คำร้องถูกล็อกเป้าไปที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล กรรมการบริหารพรรค ว่าเป็นผู้รู้เห็นให้มีการจ้างผู้สมัครจากพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง และมีการระบุว่ามีการเข้ารับค่าเหนื่อย 5 หมื่นบาทที่ห้องทำงานของ พล.อ.ธรรมรักษ์ ในกระทรวงกลาโหม มีคนระดับนายพลเป็นผู้ประสานงานการจ่ายเงินให้กับแกนนำของพรรคไม้ประดับ โดยฝ่ายตรงข้ามล้วงตับนำ “ความลับ” เป็นภาพจากโทรทัศน์วงจรปิดในกระทรวงกลาโหม มาเป็นหลักฐานเพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการเข้าพบเพื่อรับเงินจริง และยังมีการโชว์ให้สื่อมวลชนได้ชมอย่างครึกโครม

ต่อมาทางพรรคไทยรักไทยได้นำเทปบันทึกภาพจากกล้องตัวเดียวกันมาแสดงเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา ยืนยันว่าตัวแทนจากพรรคเล็กไม่มีการเข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ แต่อย่างใด และพยายามทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นการใส่ร้าย สร้างหลักฐานขึ้นมาปรักปรำ พร้อมกันนี้ทางพรรคมีการย้ำอย่างต่อเนื่องว่า พ.ต.ท.ทักษิณ บอกในการประชุมพรรคทุกครั้งว่า ห้ามสมาชิกพรรคไปทำอะไรที่ผิดกฎหมาย และยืนยันว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ไทยรักไทยไม่มีมติให้มีการไปจ้างพรรคเล็กมาลงสมัครประกบ เพื่อให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในเขตที่ลงเดี่ยว

ทั้งนี้ พรรคไทยรักไทย ยังไม่อ่อนข้อง่าย ๆ ได้งัดข้อกฎหมายเข้าสู้ ด้วยประเด็นการที่ประกาศฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยอ้างว่าเป็นผลให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง สิ้นสุดลงไปด้วย แม้ต่อมาจะมีประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2549 ออกมาให้บังคับใช้ พ.ร.บ. พรรคการเมืองต่อไป แต่พรรคไทยรักไทยอ้างว่าเมื่อนำมาประกาศใช้ใหม่ก็ให้ถือมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้คือวันที่ 30 ก.ย. 2549 เป็นต้นไป จะไปย้อนหลังไม่ได้ตามหลักกฎหมายสากล

ส่วนค่ายสะตอ พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรค 49 คน กุมบังเหียนเป็นแม่ทัพนำทีมขึ้นสู้คดี นั่งเป็นประธานคณะผู้ว่าคดีพรรคประชาธิปัตย์ และได้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เป็นประธานคณะทำงานเตรียมสำนวนคดี ส่วนคณะผู้ว่าคดี ประกอบด้วย นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง นายถาวร เสนเนียม และนาย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น นายวิทยา แก้วภราดัย นายวิรัช ร่มเย็น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายทศพล เพ็งส้ม นางภัทรมน เพ็งส้ม นายไพบูลย์ โพธิ์น้อย และ น.ส.อัครวรรณ เจริญผล ร่วมผนึกกำลังเข้าสู้อย่างเต็มที่แต่ละคนล้วนแต่เป็นมือกฎหมายชนิดเซียนเรียกพี่ก็ว่าได้

พรรคประชาธิปัตย์ มี 4 ข้อกล่าวหาที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องของ นายวิชิต และ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และพวกยื่นคำร้องต่อกกต. เพื่อให้ฟ้องพรรคประชาธิปัตย์ใน 6 ข้อหา ภายหลังกกต.ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ในที่สุดตัดเหลือเพียง 4 ข้อหา ประกอบ ด้วย 1. การที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปราศรัยใส่ร้าย “ระบอบทักษิณ” 2. การย้อมแมวส่งคนไปเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าแล้วลง ส.ส.ที่ จ.ตรัง ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 90 วัน ก่อนย้อนมาใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าจ้างลงเลือกตั้ง 3. มีการว่าจ้างให้แถลงข่าวใส่ร้าย นายสุวัจน์ ลิปต พัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ว่าเป็นผู้ว่าจ้างสมาชิกพรรคชีวิตที่ดีกว่าลงเลือกตั้ง และ 4. มีการขัดขวางการสมัคร ส.ส. ที่ จ.สงขลา

แนวทางการสู้คดีชัดเจนว่า ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ในเรื่อง “ระบอบทักษิณ” พรรคประชาธิปัตย์พยายามชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาบริหารประเทศภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำลายระบอบ ประชาธิปไตย แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ สื่อมวลชน รวมไปถึงได้สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะ “ทักษิณ...ออกไป” และ “ทักษิณสู้ ๆ” ยิ่งทำให้เห็นรอยแยกที่ยิ่งร้าวลึกลงไปในทุกหย่อมหญ้าในสังคม ส่วนการส่งคนไปสมัครในนามพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าแล้วมาใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย ทางพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ปฏิเสธไม่รู้จักกับ นายทักษะนัย กี่สุ้น อดีตผู้ช่วยของ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และคนที่นายทักษะนัย พามาพบเนื่องจากมีปัญหาการลงรับสมัครจึงอยากให้ช่วย

พร้อมกันนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ยังปฏิเสธการเคลื่อนไหวของ นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำอีสานกู้ชาติ โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวอิสระเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ ส่วนเรื่องสุดท้าย ตามข้อกล่าวหา มีการชี้แจงว่าทางพรรคไม่ได้เข้าไปขัดขวาง แต่ผู้สมัครบางรายมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เอกสาร จึงทำให้ไม่สามารถสมัครได้ ไม่ใช่เป็นการไปอยู่เบื้องหลังจัดคนไปขัดขวาง ซึ่งมีการโยงไปว่าเป็นอดีตคนใกล้ชิดของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี แกนนำคนสำคัญของพรรคเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ ดร.ไตรรงค์ ปฏิเสธว่า ไม่ได้ใกล้ชิดกันมาเป็นสิบปีแล้ว และไม่รู้เรื่อง

อย่างไรก็ตาม การสู้คดีของพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาต้องมาสะดุดไม่แพ้กับทางพรรคไทยรักไทยที่ต้องพยายามชี้แจงเรื่องภาพจากวงจรปิดในกระทรวงกลาโหมให้กระจ่างชนิดที่เรียกว่าแลกกันหมัดต่อหมัด คือ กรณี นางฐัติมา ภาวะลี ผู้สมัครจากพรรคแผ่นดินไทย ที่นายสุเทพนำวิดีโอมาเปิดคำบันทึกภาพและเสียง ว่ามีระดับนายพลที่ใกล้ชิดพรรคไทยรักไทย นำเงินมาว่าจ้างให้จัดคนลงสมัครในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยความหวาดกลัวอิทธิพลจึงมาขอพักอาศัยที่บ้านพักใน จ.สุราษฎร์ธานี ของนายสุเทพ แต่ปรากฏว่าภายหลังราวกับนิยายหักเหลี่ยมเฉือนคม เมื่อน้องสาวนางฐัติมากลับเข้าแจ้งความกล่าวหาว่าพี่สาวถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือ พร้อมการนำเสนอข้อมูลออกมาที่ไปคนละทางกับนายสุเทพในเวลาต่อมา

สำหรับการไต่สวนพยานในกลุ่มที่ 1 ที่ต้องการให้ยุบ พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย มีการไต่สวนรวม 14 นัด โดยนัดไต่สวนทุกวันอังคาร เวลา 10.00 น. เริ่มนัดแรกเมื่อวันอังคารที่ 16 ม.ค. 2550 ผู้ถูกร้อง 7 นัด พยานฝ่ายผู้ร้อง 7 นัด ซึ่งในการนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องนัดแรกนั้นมีชื่อของ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นพยานคนแรก ขณะนั้นมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าจะใช้วิธีใดในการนัดไต่สวน จะต้องให้ พ.ต.ท. ทักษิณ มาขึ้นศาลหรือไม่ หรือจะใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในที่สุดก็จบด้วยวิธีการส่งเอกสารคำเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือเมื่อวันพุธที่ 2 พ.ค. และนัดฟังคำวินิจฉัยใน วันพุธที่ 30 พ.ค. เวลา 14.30 น.

การไต่สวนพยานกลุ่มที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีทั้งสิ้น 12 ครั้ง เป็นผู้ร้อง 7 นัด เป็นผู้ถูกร้อง 5 นัด โดยนัดแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2550 นัดฟังคำวินิจฉัยในวันเดียวกัน แต่เร็วกว่าพรรคไทยรักไทย 1 ชั่วโมง คือ กลุ่มที่ 2 จะนัดฟังคำวินิจฉัยในเวลา 13.30 น.

การต่อสู้ในชั้นศาลที่ดำเนินมากว่า 2 เดือน จะมาถึงตอนจบที่หน้าประวัติศาสตร์การเมืองจะต้องจารึกเรื่องราวครั้งนี้ลงไปอีกคำรบ คำวินิจฉัยบนความถูกต้องที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พ.ค.นี้ จะเป็นทางแยกสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะออกมาในรูปแบบใด จะออกหน้าไหน ยุบ-ไม่ยุบ ใครจะว่างงานกันบ้าง ติดตามได้ในวันถัดไป.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น